Facade Solution

Facade Solution

วันนี้ BuilderNews จะพาไปรู้จักกับ Facade หรือ เปลือกอาคาร ที่ช่วยสร้างรูปทรงสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะให้งานสถาปัตยกรรม

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ Facade

‘Facade’ หรือ ฟาซาด เป็นคำเรียกในภาษาฝรั่งเศส ที่มีความหมายว่า โฉมหน้า แต่ทว่าในภาษาสถาปัตยกรรม หมายถึง องค์ประกอบด้านหน้าของอาคารหรือรูปด้านอาคารที่มองเห็นได้ชัดเจนและยังมีความหมายครอบคลุมทั้งในส่วนที่เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น หน้าต่าง กันสาด ชายคา ระเบียง ช่องเปิดต่าง ๆ ไปจนถึงสิ่งตกแต่งปลีกย่อยของอาคาร

ปัจจุบันในแง่ของนักออกแบบมักเรียกนิยมเรียก Facade ว่า เปลือกอาคาร ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างมุมมองบดบังอาคารจากบริบทภายนอกและช่วยรักษาความสมดุลระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายในอาคาร อีกทั้งยังช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้มีความสวยงามเฉพาะของตัวอาคาร จึงไม่น่าแปลกที่ในปัจจุบันนักออกแบบ หรือ สถาปนิกส่วนใหญ่จะขะมักเขม้นไปกับการออกแบบ Facade ไม่ต่างจากองค์ประกอบทางด้านอื่น ๆ ด้วยเหตุเพราะเป็นองค์ประกอบการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่สามารถสร้างความแตกต่างระหว่าง อาคาร และสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน

5 วัสดุที่นิยมใช้ในการออกแบบ Facade ให้สวยมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร



แผ่นตะแกรงฉีก Expanded Metal

แผ่นตะแกรงฉีก ทำมาจากแผ่นเหล็ก สเตนเลสและอะลูมิเนียม ที่มีลักษณะเป็นแผ่นเรียบ ถูกนำมาเจาะให้เป็นรูแล้วยืดออกให้เป็นลักษณะรูปตาข่ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปรังผึ้ง โดยมีทุกจุดต่อของรูยืดต่อกันอย่างแข็งแรงตลอดทั้งแผ่น นิยมนำมาใช้ทำเป็นที่กั้นทางเดิน ราวบันได ประตูรั้ว และเปลือกอาคาร



แผ่นเหล็ก Steel Plate

แผ่นเหล็ก ทำมาจากเหล็กแผ่นม้วนคุณภาพสูง มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผิวเรียบ นิยมใช้ในการเชื่อมต่อโครงสร้าง งานต่อเรือ งานสะพานเหล็กและเปลือกอาคาร เนื่องจากราคาที่ไม่สูงมากมีขนาดให้เลือกใช้ได้หลากหลายขนาด


แผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิต Aluminum Composite

แผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิต ในช่วงปี 2019 – 2020 มานี้ ถือว่าเป็นวัสดุที่นิยมค่อนข้างสูง ด้วยความหลากหลายของสีสันที่มีให้เลือกพร้อมทั้งไม่เป็นสนิม น้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแกร่งทนรับกับทุกสภาวะอากาศที่มีความเป็นกรดด่างหรือความชื้นที่แตกต่างกัน โดยสามารถใช้งานได้ดีทั้งภายนอกและภายในอาคาร จัดเป็นวัสดุที่สามารถดัดเปลี่ยนรูปทรงได้อย่างหลากหลาย



แผ่นอะลูมิเนียม Aluminum Sheet

แผ่นอะลูมิเนียม มีความเหนียวยืดหยุ่นได้ดีและน้ำหนักเบา นิยมนำมาใช้ในงานตัดพับขึ้นรูป อาทิ กั้นทางเดิน  ราวบันได ประตูรั้ว และเปลือกอาคาร นอกจากนี้ยังสามารถฉลุลวดลายได้ตามที่ต้องการ



แผ่นสเตนเลส Stainless Sheet

แผ่นสเตนเลส มีความคงทนและแข็งแรง เหมาะแก่การใช้งานในทุกสภาวะแวดล้อม ทั้งยังง่ายต่อการดูแลรักษาในระยะยาว นิยมนำมาใช้ในงานตกแต่งภายในหรืองานประตูรั้ว แต่ไม่นิยมนำมาใช้สำหรับงานออกแบบเปลือกอาคารมากนัก เนื่องจากมีราคาที่ค่อนข้างสูง


ประเภทของ Facade ที่นิยมใช้ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ปัจจุบันการออกแบบ Facade ให้สวยงามจะยังไม่แพร่หลายมากเท่าทุกวันนี้ สถาปนิกมักจะนิยมออกแบบสำหรับอาคารพาณิชย์ โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร และที่พักอาศัย ด้วยรูปแบบการออกแบบที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เพื่อความสะดวกต่อการดูแลรักษาและความเหมาะสมในการใช้งาน โดยแบ่งการออกแบบประเภทของ Façade ได้ 2 ประเภทดังนี้

ฟาซาดแบบ Double-Skin Facade

ฟาซาดแบบ Double Skin Facade คือการกรุหรือหุ้มฟาซาดภายนอกอีกชั้นให้กับอาคาร โดยเว้นระยะออกจากผนังภายในเล็กน้อย ซึ่งมีลักษณะเป็นผนังทึบสลับโปร่ง สามารถกรองแสงแดด ลดอุณหภูมิ และสร้างความเป็นส่วนตัว ผนังสองชั้นยังเป็นนวัตกรรมที่ถูกใช้กับอาคารขนาดใหญ่ เช่น ตึกกระจกสูงระฟ้า และอาคารสาธารณะต่าง ๆ

ฟาซาดแบบผนังสองชั้น ประกอบไปด้วยโครงสร้างที่เป็นเหล็กหรืออะลูมิเนียม เพื่อใช้สำหรับยึดวัสดุที่มาติดตั้งทับอีกชั้น ได้แก่ อิฐ ระแนงไม้ บล็อก ตะแกรงเหล็ก แผ่นอะลูมิเนียม ระแนงอะลูมิเนียม กระจก แผ่นอะคริลิค สวนแนวตั้ง รวมไปถึงระบบผนัง Curtain Wall สำหรับอาคารสูง


ฟาซาดแบบ Building Form Facade

ฟาซาดแบบ Building Form Facade คือรูปแบบฟาซาดที่ถูกออกแบบให้เป็นทั้งผนังและเป็นเปลือกอาคารในองค์ประกอบเดียวกัน มีลักษณะเป็นรูปทรงของอาคาร โดยเน้นองค์ประกอบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระนาบผนังอาคาร เช่นช่องเปิด กันสาด หรือ ระเบียง ด้วยการดีไซน์ให้มีส่วนยื่นหรือส่วนตื้นลึกของอาคาร เพื่อเป็นการเล่นกับเฉดเงาส่วนหนึ่งของอาคารอย่างชัดเจน ซึ่งได้รับอิทธิพลการออกแบบมาตั้งแต่ยุค Modern Movement


โดยวัสดุปิดผิวที่ใช้กับเปลือกอาคารแบบ Building Form Facade ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุที่กลมกลืนไปกับวัสดุหลัก จึงทำให้ภาพรวมของอาคารดูมีความสมดุลเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่ก็มีบ้างที่มีการใช้วัสดุที่มีความ Contrast กันกับงานสถาปัตยกรรมแบบ Deconstruction Concept

คุณสมบัติของ Facade ที่เปรียบได้กับหน้าตาของงานออกแบบสถาปัตยกรรม

ช่วยประหยัดพลังงานภายในอาคารมากขึ้น เพราะทำหน้าที่ควบคุมการรั่วไหลของอากาศภายในอาคารให้มีความสมดุล
ช่วยลดความร้อนและฝุ่นที่เข้ามาภายในอาคารโดยตรง
ช่วยควบคุมแสงสว่างจากภายนอกที่จะเข้าสู่ตัวอาคารให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
ช่วยให้การไหลเวียนของอากาศมีความสมดุล ด้วยรูปแบบเปลือกอาคารแบบสองชั้น ทำให้มีช่องว่างอยู่ตรงกลางระหว่างผนังชั้นในและผนังชั้นนอก ซึ่งมีช่องว่างที่อยู่ตรงกลางที่ทำให้มวลอากาศที่เย็นกว่าจากภายนอกไหลเวียนเข้ามาทดแทนมวลอากาศที่ร้อนกว่าภายใน จึงทำให้เกิด ความกดอากาศที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มวลอากาศร้อนที่สะสมอยู่ภายในช่องว่างสามารถลอยตัวขึ้นได้ เมื่อมีความดันอากาศที่มากพอ โดยมวลอากาศที่มีความร้อนจะไหลผ่านช่องเปิดหมุนเวียนอากาศที่อยู่ด้านบน ออกไปสู่ภายนอกอาคารตามหลักการของ Stack Effect ซึ่งช่วยเพิ่มสภาวะอากาศที่ดีให้กับพื้นที่ภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ‘Facade’ ไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยเสริมให้อาคารมีเพียงแต่ความสวยงามให้กับอาคารเท่านั้น แต่ยังสามารถปกป้องผิวอาคารจากความร้อน ความหนาว และช่วยถ่ายเทอากาศภายในอาคารได้ด้วยเช่นกัน โดยผ่านการออกแบบอาคารด้วยรูปทรงสะดุดตาและมีเอกลักษณ์ที่ลงตัว



Source

https://www.blockdit.com/posts/5f801262c9b49733984f0716

https://www.wazzadu.com/article/2161

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้